วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หน้าที่คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง และคณะกรรมการกำหนดราคากลาง (พัสดุเสื่อมสภาพ)

หน้าที่คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง 

           (ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 156)

          1.  ตรวจสอบสภาพพัสดุ ชำรุด เสื่อมสภาพ สูญไป หรือไม่จำเป็นต้องใช้ในราชการ
ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการรับ-จ่ายพัสดุประจำปี รายงาน
          2.  พิจารณาว่าพัสดุแต่ละรายการที่ชำรุด เสื่อมสภาพ หรือหากใช้ราชการต่อไปจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก หรือสูญไปนั้น เห็นสมควรจำหน่ายหรือไม่ สาเหตุใด และต้องมี
ผู้รับผิดทางแพ่งหรือไม่ โดยสอบถามจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้พัสดุนั้น หรือตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้องมูลการซ่อมบำรุง เพื่อเสนอรายงานสรุปผลการสอบหาข้อเท็จจริง ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ และรายงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคทราบ


หน้าที่คณะกรรมการกำหนดราคากลาง  (พัสดุเสื่อมสภาพ)        

         1.  ตรวจสอบสภาพพัสดุ โดยพิจารณาพัสดุแต่ละรายการว่าลักษณะสภาพชำรุด
มากน้อย พิจารณาจากข้อมูลอายุการใช้งานของพัสดุนั้น ค่าซ่อมบำรุง ค่าเสื่อมราคา หรือเทียบกับราคาท้องตลาด เพื่อกำหนดเป็นราคากลางให้เหมาะสม
         2.  สรุปรายงานผลการกำหนดราคากลางให้กับหัวหน้าส่วนราชการทราบ เพื่อดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 157(1) โดยการขายต่อไป




วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การตรวจสอบพัสดุประจำปี

การตรวจสอบพัสดุประจำปี
   
(ดำเนินการตามระเบียบพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่ม ข้อ 155 - 156)

        การตรวจสอบพัสดุประจำปี ระเบียบฯ ให้เริ่มดำเนินการตรวจสอบพัสดุในวันเปิด
ทำการวันแรกของเดือนตุลาคมเป็นต้นไป  และให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ทำการ นับแต่วันเริ่มดำเนินการตรวจสอบพัสดุนั้น  แล้วให้เสนอรายงานผลการตรวจสอบ
ให้หัวหน้าส่วนราชการ และส่งสำเนารายงานไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค

       การตรวจสอบพัสดุประจำปี คือ การตรวจสอบรายการวัสดุ,  รายการวัสดุคงทนถาวรและรายการครุภัณฑ์ทั้งหมด  ซึ่งบางหน่วยงาน ไม่สามารถตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันได้  ฉะนั้น  หากหน่วยงานทราบปัญหา และหาวิธีในการตรวจสอบพัสดุ
สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบ...แน่
        วิธีการตรวจสอบพัสดุ ให้แล้วเสร็จใน 30 วันทำการ
        1. วางแผนการตรวจสอบพัสดุ
             -  จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพัสดุ มากกว่า 3 คน หรือดูตามจำนวนปริมาณพัสดุมาก น้อย
            -  จัดเตรียมทะเบียนคุมพัสดุ  โดยการแยกทะเบียนคุมของแต่ละงาน หรือแต่ละห้อง เพื่อสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบ
            -  ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในหน่วยงานทราบ เพื่อให้บุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบพัสดุ เช่น เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง ซึ่งมีครุภัณฑ์
วิทยาศาสตร์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบพัสดุ
            -  วางแผนนัดคณะกรรมการฯ แบ่งหน้าที่กันเพื่อตรวจสอบ 
            -  ขณะที่ตรวจสอบฯ ให้เก็บข้อมูลว่าพัสดุใช้ห้องใด , ใครรับผิดชอบ
            -  พัสดุใดที่ชำรุดเสื่อมสภาพ  ให้จัดทำสติ๊กเกอร์ติดไว้ เพื่อรอการจำหน่าย
หรือนำพัสดุไปเก็บในที่ปลอดภัย / จัดพัสดุจำหน่ายแยกประเภทให้เป็นหมวดหมู่
            -  ตรวจสอบข้อมูลรายการพัสดุจำหน่ายในทะเบียนคุม และในระบบฐานข้อมูลครุภัณฑ์nudb ให้ถูกต้อง และกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มการจำหน่ายให้ละเอียด ให้
ถูกต้อง พร้อมลงชื่อคณะกรรมการตรวจสอบพัสดุกำกับรายการจำหน่ายทุกแผ่น และ
เสนอรายงานผลการตรวจสอบพัสดุ ต่อหัวหน้าส่วนราชการ
        
        2.  หลังจากตรวจสอบพัสดุแล้ว พบว่ามีพัสดุชำรุดเสื่อมสภาพ ให้จัดเตรียมพัสดุไว้
เพื่อให้คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง เข้าตรวจสอบพัสดุที่เสื่อมสภาพ   เพื่อรอการจำหน่ายตามระเบียบพัสดุ ข้อ 157 ต่อไป

       ฉะนั้น.. การตรวจสอบพัสดุประจำปี สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่ระเบียบกำหนดได้ภายใน 30 วันทำการ ค่ะ
   
ที่มา.... หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร ๑๓๐๕/ว ๙๒๒๖  ลงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๒